ประวัติวัดกำแพงบางจาก


                  วัดกำแพงตั้งอยู่เลขที่ ๒๙๙ ซอยเพชรเกษม ๒๐ ถนนเพชรเกษม แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
                 วัดกำแพง(คลองบางจาก) เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ในเขตธนบุรี โดยพื้นที่แถบเดิมเรียกว่า เมืองบางกอก หรือ เมืองธนบุรี เป็นวัดขนาดเล็กที่มีการวางผังได้อย่างลงตัว

               ความเป็นมาของวัดไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด สันนิษฐานว่าคงมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตามคำบอกเล่าสืบทอดกันมา และคงได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่หลายครั้ง แม้แต่ชื่อวัดก็ไม่ทราบชื่อเดิม ชื่อที่ใช้ในปัจจุบันก็เป็นชื่อเรียกกันในหมู่ชาวบ้านและเรียกกันมาเรื่อยๆ แต่หลักฐานที่เหลืออยู่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ เจดีย์บรรจุอัฐิทรงกลมทางทิศใต้ของพระอุโบสถ ที่ส่วนฐานมีแผ่นศิลาจำหลักข้อความซึ่งสรุปได้ว่า เจดีย์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกและใช้บรรจุอัฐิของ “พระพิศาลผลพานิช” ภายหลังจากที่ได้จัดการฌาปนกิจศพที่วัดจักรวรรดิราชาวาส และเมื่อได้ไปค้นคว้าในเอกสารสารบาญชี ส่วนที่ ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (สารบาญชีส่วนที่ ๑ คือ ตำแหน่งราชการ) ทำให้ทราบว่า พระพิศาลผลพานิช เดิมชื่อ จีนสือ เป็นขุนนางเชื้อสายจีนซึ่งรับราชการตำแหน่งสำคัญในกรมท่าซ้าย และตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งทิศตะวันตก(ฝั่งธนบุรี) หรือบริเวณศาลเจ้าโรงฟอกหนังปัจจุบัน จากตำแหน่งที่ตั้งของเจดีย์องค์นี้พอจะสันนิษฐานได้ว่าพระพิศาลผลพานิชน่าจะมีความสำคัญต่อวัดกำแพงนี้เป็นอย่างมาก เป็นไปได้ว่าอาจเป็นผู้ออกทุนทรัพย์ในการซ่อมแซมวัด ประกอบกับข้อมูลจากท่านเจ้าอาวาสพบว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระกฐินต้นเป็นการส่วนพระองค์ที่วัดนี้ และได้พระราชทานแจกันกังไสไว้ ๑ คู่โดยลงพระปรมาภิไธยกำกับไว้ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสได้เคยเก็บรักษาไว้ แต่ถูกขโมยไปเมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว

พระอุโบสถ
             เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกฐานสูงเป็นฐานสิงห์ หลังคาทรงจั่วลด ๒ ชั้น ๓ ตับ มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสีส้ม มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า มีประตูทางเข้าออก ๒ ด้านๆ ละ ๒ บาน มีหน้าต่างด้านข้างด้านละ ๕ บาน ลักษณะด้านหน้าพระอุโบสถเป็นแบบหน้าจั่วเปิดชนิดมีสาหร่ายรวงผึ้งซึ่งเป็นงานประดับอันวิจิตรมีที่มาจากแผงกันแดดของอาคารซึ่งทำกันมานานในสมัยอยุธยา ตรงบริเวณมุขจะมีเสาหานรับหลังคามุข เป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองประดับหัวเสาด้วยบัวแวงประดับกระจกสีเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย หน้าบันทำด้วยแผงไม้กระดานจำหลักลวดลายพันธุ์พฤกษาและประดับกระจกสี ใต้กระจังประด้วยรวงผึ้ง ข้างเสาหานประดับด้วยลายสาหร่ายรวงผึ้งจำหลักลวดลายที่มีปลายเป็นรูปกนกนาค ซุ้มประตูและหน้าต่างภายในอาคาร ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรอบอลูมิเนียมตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายพันธุ์พฤกษาที่มีความงดงามแต่ก็เสียหายไปมากแล้ว จากลักษณะโดยรวมพระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่วัสดุที่ได้ประดับส่วนต่างๆ เช่น ระเบียง หน้าบัน ลวดลายปูนปั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะจีนเป็นแนวพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓
  
พระประธานในพระอุโบสถ
           หลวงพ่อบุษราคัม พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธลักษณะเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น   สืบทอดศิลปะจากสมัยอยุธยาตอนปลาย    ฐานชุกชีมีลักษณะใกล้เคียงกับวัดสุวรรณาราม จากข้อสังเกตที่พระพาหาและนิ้วพระหัตถ์ดูใหญ่ผิดส่วนอาจเป็นไปได้ว่าเคยได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาแล้ว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น